เรือน 3 น้ำ 4 วิธีครองเรือนแบบโบราณที่ทันสมัยตลอดกาล

0

ในสมัยก่อนเมื่อหญิงชายจะแต่งงานกัน พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ มักจะสอนให้ฝ่ายหญิงรู้จักประพฤติ* ปฏิบัติตนด้วย เรือน 3 น้ำ 4″  ซึ่งเรือน 3 ก็ได้แก่ เรือนผม,เรือนร่าง และเรือนนอน  ส่วนน้ำ 4 ก็ได้แก่ น้ำใช้, น้ำใจ, น้ำคำ และน้ำเต้าปูน  เป็นกลยุทธหลักจำซึ่งแท้ที่จริงก็มุ่งหมายที่จะอบรมให้หญิงสาว ที่จะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา รู้จักหน้าที่ของความเป็นแม่บ้านแม่เรือน เพื่อผูกใจสามีให้รักใคร่เอ็นดู ผู้เป็นภริยานั่นเองค่ะ

เรือน 3 :

เรือน 3 น้ำ 4 วิธีครองเรือนแบบโบราณที่ทันสมัยตลอดกาล (1)

เรือนแรก คือ  เรือนผม

เป็นผู้หญิงต้องหมั่นดูแลรักษาผมเผ้าให้สะอาดหมดจด ปราศจากกลิ่น โดยคอยหวีให้เรียบร้อยไม่ปล่อยเป็นกระเซิง จะช่วยให้บรรดาเมียๆ น่ามองยิ่งขึ้น อีกทั้งตอนหวีผม คนเราก็ต้องดูกระจก จะได้ใช้เวลานั้นผัดหน้าทาแป้ง ให้สดชื่นสวยงาม ซึ่งสาวๆ พอได้แต่งหน้าทาปาก ก็จะรู้สึกว่าตัวสวยขึ้น เกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันเมื่อสามีเห็น ก็พลอยสบายตาไปด้วย

เรือนที่สอง คือ เรือนกาย

การรักษาทรวดทรงองค์เอว ให้น่ามองอยู่เสมอ ก็จะเป็นเสน่ห์ผูกใจสามีได้อีกทางหนึ่ง เพราะเวลาพาเมียไปไหนๆ คนชมว่าเมียว่าหุ่นดี ภรรยาก็หน้าบาน สามีก็ภูมิใจ

เรือนที่สาม คือ เรือนนอน

หมายถึง  ที่อยู่อาศัยการรู้จักดูแลบ้านช่อง จัดข้าวของในเรือนให้ดูสะอาดเรียบร้อย ไม่สกปรกรกรุงรัง เพราะบ้านที่สกปรก และไม่เป็นระเบียบ แสดงว่าเมียบ้านนั้นมีนิสัยขี้เกียจ ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน หากมีแขกใครไปมา ก็จะขายหน้าถึงสามี อีกทั้งสุขอนามัยของบ้านนั้นๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย ทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยได้ง่าย

น้ำ 4 :

เรือน 3 น้ำ 4 วิธีครองเรือนแบบโบราณที่ทันสมัยตลอดกาล (2)

น้ำแรก คือ น้ำมือ

หมายถึง ฝีมือปรุงอาหาร  ต้องรู้จักหัดทำข้าวปลาอาหารอร่อยๆ ให้สามีรับประทาน ซึ่งสมัยโบราณ หญิงสาวไม่ว่าจะชาวบ้าน หรือชาววังต่างก็ทำอาหารเป็นทั้งนั้น เพราะสมัยก่อน ไม่มีร้านอาหารสำเร็จรูปให้ซื้อ มีแต่วัตถุดิบที่ต้องนำไปปรุงเอง ดังนั้น หญิงสาวส่วนใหญ่ จึงถูกฝึกให้ทำกับข้าวกับปลา มาแต่เด็กๆ เสมือนหนึ่งหัดวิชาชีพติดตัว ที่สำคัญ คนรุ่นก่อนมีคติว่าเสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย”  สำหรับผู้หญิงสมัยนี้  ถึงแม้จะทำกับข้าวเข้าครัวไม่เก่ง  แต่สำหรับสาวๆ ยุคเตาไมโครเวฟ หรือแม่บ้านถุงพสาสติก แม้จะทำอาหารไม่เป็น แต่ก็ควรจะรู้จักเลือกซื้ออาหาร จากร้านเจ้าอร่อยและสะอาด หรือของโปรด มาดูแลไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

น้ำที่สอง คือ น้ำใจ

การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว หรือทำใจดำ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลสามี ทั้งในหน้าที่การงาน และจิตใจ  ซึ่งการมีน้ำใจนี้ มิใช่มีต่อสามีคนเดียว แต่ควรเผื่อแผ่ถึงญาติพี่น้องของสามีด้วย เพราะนอกจากจะทำให้สามีสบายใจแล้ว ยังช่วยให้ภรรยาเป็นที่รักใคร่ และเป็นที่เกรงใจอีกด้วย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขยังไงล่ะคะ

น้ำที่สาม คือ น้ำคำ

การใช้คำพูดที่สุภาพ ไพเราะหู ไม่กระโชกโฮกฮากหรือด่าทอ รู้จักเจรจาปราศรัย รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรเงียบ เมื่อไรควรให้กำลังใจ หรือปลอบประโลม อันที่จริงแล้ว การพูดจาดีต่อกัน โดยไม่ด่าทอ บ่นว่าหรือจู้จี้จุกจิก จะทำให้รู้สึกว่าบ้านร่มเย็น น่าอยู่ ไม่ร้อนหูร้อนใจ ซึ่งการพูดจาไม่ระคายหูนั้น จริงๆ แล้วควรจะใช้พูดกับทุกคนทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ไม่เฉพาะแต่กับสามีเท่านั้น เพราะนอกจากผู้ฟังจะรู้สึกสบายหูแล้ว ยังจะรู้สึกดีๆ กับผู้พูดด้วย

น้ำสุดท้าย คือ น้ำเต้าปูน 

หมายถึง การดูแลคอยเติมน้ำในเต้าปูนมิให้แห้ง ในสมัยก่อนคนกินหมาก จึงต้องมีเต้าปูน เป็นภาชนะใส่ปูนแดงไว้ป้ายใบพลู เพื่อกินกับหมาก ซึ่งถือว่าเป็นของรับแขก ดังนั้น หากแม่บ้านบ้านไหน ปล่อยให้น้ำในเต้าปูนแห้ง จนไม่สามารถควักออกมาป้ายได้ แสดงว่าทำหน้าที่บกพร่อง แม่บ้านที่ดีจึงต้องคอยดูแลเติมน้ำในเตาปูนอยู่เสมอ

แม้จะเป็นเรื่องที่คนโบราณสอนไว้ แต่ถือได้ว่าเป็น “เคล็ดลับการครองเรือน” ที่สาวๆ สมัยนี้สามารถนำไปใช้ได้ และยังเป็นวิธี ผูกใจ” สามีที่ไม่ล้าสมัย หากจะรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอีกด้วยนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *