ขจัดความเครียดฟื้นฟูจิตใจด้วยการ “ฝึกสมาธิ”

0

ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าทั้งเรื่องงานเรื่องครอบครัวในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงเรื่องเรียนเรื่องเพื่อนในวัยเด็ก ล้วนก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย หลายคนมักแก้ปัญหาด้วยการไปเที่ยวหรือช้อปปิ้ง แต่ก็ช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ไม่ต้องกังวลค่ะ เรามีวิธีง่ายๆ มาแนะนำ นั่นคือ

การฝึกสมาธิ

ข้อมูลจาก นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ระบุว่า…

สติเป็นจิตที่มีคุณภาพในขณะทำงาน ส่วนสมาธิเป็นจิตที่มีคุณภาพขณะพัก ทั้ง 2 ส่วนนี้สัมพันธ์เกื้อหนุนกัน การนั่งสมาธิทุกวัน วันละ 10-20 นาที จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล ทำให้การทำงานดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ตระหนักรู้ตัวเอง ทำให้คุณภาพจิตมีความรัก ความเมตตาเสียสละอดทน เนื่องจากจิตในขณะที่มีสติ จะทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่ถูกสอดแทรกด้วยอารมณ์

ส่วนจิตขณะทำสมาธิจะหยุดคิดจนเกิดความสงบ เกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเป็นการคลายเครียดในระดับลึก การทำสมาธิทุกวันเท่ากับเป็นการปลดปล่อยความเครียดออกจากสมองทุกวัน สมองจะไม่มีความเครียดคั่งค้างอยู่ เมื่อมีความเครียดเข้ามาใหม่ ก็จะเผชิญกับสถานการณ์ได้ดี

วิธีฝึกสมาธิมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ

eliminate-stress-restore-your-mind-with-meditation

– ฝึกหยุดความคิด

ขั้นที่ 1 การฝึกหยุดความคิด ให้นั่งตัวตรง ศีรษะตรง หลับตาเบาๆ หายใจเข้าออกยาวๆ สัก 5-6 ลมหายใจ และให้มุ่งการรับรู้ลมหายใจที่มาสัมผัสบริเวณปลายจมูกข้างที่รู้สึกชัดกว่า ซึ่งจะต้องใช้ความตั้งใจจับความรู้สึกลมหายใจที่เข้าออก เนื่องจากบริเวณปลายจมูกมีประสาทรับรู้น้อยกว่าที่อื่น การรู้ลมหายใจจึงทำให้หยุดคิด เมื่อรับรู้ได้แล้ว ให้หายใจตามปกติ

– ฝึกการจัดการความคิดที่มาจากจิตใต้สำนึก

โดยรับรู้ แต่ไม่คิดตาม ขั้นที่ 2 ฝึกการจัดการความคิดที่เกิดขึ้นมาในใจ โดยให้รู้ตัวว่ามีความคิดเกิดขึ้น แต่อย่าติดตาม ปลดปล่อยความคิดนั้นไป และกลับมาหยุดคิดโดยสนใจที่ลมหายใจที่ปลายจมูก อย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิดหรือว้าวุ่นวกวนกับความคิดเพราะจะทำให้จิตไม่สงบ ด้วยวิธีนี้สมองจะค่อยๆ ปลดปล่อยความว้าวุ่นออกไปจากจิตใต้สึกนึกจนสงบ

– ฝึกการจัดการความง่วงจากจิตที่เริ่มสงบ

ขั้นที่ 3 การจัดการความง่วงซึ่งเกิดขึ้นจากจิตเริ่มสงบ ให้พยายามยืดตัวให้ตรง เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว หายใจเข้าออกลึกๆ 5-6 ครั้ง เมื่อหายง่วงให้กลับมารับรู้ลมหายใจที่ปลายจมูกเช่นเดิม ช่วงเวลาการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดคือเช้าตรู่หรือก่อนนอน เนื่องจากเป็นช่วงสงบ


การสะสมความเครียดทั้งจากบ้านและที่ทำงาน จะก่อความเครียดที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบร่างกายและจิตใจ ไม่มีความสุข มีแนวโน้มกระทบกระทั่งกันง่าย รวมทั้งก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *