ระวัง! ผู้สูงวัยปรับตัวไม่ทันหลัง “เกษียณ” เสี่ยงซึมเศร้า!

0

เพราะเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ในเรื่องชีวิตการงานก็เช่นกัน ในทุกๆ ปีล้วนมีผู้เกษียณอายุ ซึ่งหลายคนถือโอกาสนี้ ทำสิ่งที่อยากทํา หรือใช้เวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษียณอายุ หากไม่สามารถปรับตัว ปรับใจ หรือไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตขึ้นได้ค่ะ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการเกษียณอายุ สรุปความได้ว่า…

การเกษียณอายุเป็นเหมือนการเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบเฉียบพลัน ทุกวันจันทร์เคยต้องไปทำงาน แต่ไม่ต้องไปแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ หรือเรื่องรายได้ ที่อาจทำให้เกิดความเครียด รวมถึงการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม จากที่เคยมีบทบาทหน้าที่ มีคนเคารพยกย่อง พอเกษียณก็กลายเป็นเพียงคนธรรมดา

beware-senior-retired-after-retired-risky-depression-2

เมื่อไม่มีการเตรียมความพร้อม ปรับตัวไมได้ ย่อมทำให้ยิ่งรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตัวเองแย่ลง บางคนจึงอาจมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม ต้องยอมรับ ไม่ยึดติด อย่าคิดว่าจะเป็นแบบนี้ตลอดไป ทำตัวเองให้เป็นคนที่น่ารัก น่าเคารพ ถึงแม้ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแล้วก็ยังสามารถเป็นพี่ให้กับน้องๆ ได้เสมอ เป็นต้น

แนวทางสร้างสุขสำหรับวัยเกษียณ

beware-senior-retired-after-retired-risky-depression-1

  1. สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและผู้อื่น ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็กๆ ให้ได้ในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ
  2. สร้างสุขภาพกายและใจให้ตนเอง ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส เมื่อใดรู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ต้องรู้ตัว รีบปรับตัว อยู่กับคนที่รัก ไปพบเพื่อนฝูง พูดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์
  3. สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมในบ้านและนอกบ้าน เช่น งานบ้าน งานสวน เข้าชมรม เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตามความชอบความพอใจ รสนิยม และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อให้สมองได้ถูกใช้งาน เป็นต้น

ลูกหลานและคนรอบข้างก็ต้องปรับตัว ปรับใจ และช่วยกันทำให้ผู้เกษียณมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สร้างความเชื่อมั่นให้กับท่าน ไม่ทำให้ท่านรู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม แต่เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่สามารถช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นได้ ควรให้ความเคารพยกย่อง เชื่อฟังในสิ่งที่ท่านอบรมสั่งสอน ให้ท่านมีโอกาสทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง พาไปทำกิจกรรม หรือพาไปเที่ยวบ้างตามโอกาส

ทั้งนี้ เวลาสื่อสารกับผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงคำว่า “ไม่ได้หรอกครับ/ค่ะ” ตลอดจน เวลาท่านสอนหรือพูดบ่น ก็ควรฟัง อย่าหนีไปไหน และเห็นด้วยกับท่านบ้าง เพียงเท่านี้ก็ทำให้วัยเกษียณสุขทั้งกายสุขทั้งใจแล้วค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *