อย่าเมินปัญหา “ก้าวร้าว” ถ้าไม่อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นนักเลง!

0

ความก้าวร้าว เกเรรุนแรง เป็นปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่า “โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว” ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น เพราะการที่พ่อแม่เมินเฉยต่อพฤติกรรมนี้ อาจทำให้เด็กโตขึ้นกลายเป็นนักเลงอันธพาลได้

ข้อมูลจาก นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ระบุว่า พ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆไป  จึงไม่ห้ามปราม  โรคนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่นเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร

การแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กก้าวร้าว

aggressive_behavior_in_children

  1. ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด
  2. ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้
  3. ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  4. ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ
  5. ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  6. หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งการข่มขู่หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ
  7. ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดองเป็นมิตรต่อกัน และมีวินัย

หากพฤติกรรมเด็กยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

การพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรก จะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งง่ายกว่ามาแก้ไขพฤติกรรมเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีปัญหาเป็นคดีความแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *