รู้จักโรคและวิธีดูแลเบบี๋ที่เป็น “ธาลัสซีเมีย”

0

“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยอันเนื่องมาจากความผิดปกติของการสร้างฮีโมโกลบิน ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะผิดปกติ และมีอายุสั้น ทั้งนี้ ทารกที่มีอาการของโรคขั้นรุนแรงมากจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังคลอด

know-the-disease-and-how-to-take-care-of-kid-with-thalassemia

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียมีหลายชนิดและรุนแรงแตกต่างกัน ทารกที่มีอาการของโรคขั้นรุนแรงมากจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเมื่อคลอดเพียง 1-2 ชั่วโมง แต่เป็นเพียงส่วนน้อย โดยส่วนมากจะพบว่าผู้ป่วยจะมี 2 กลุ่ม คือ

  1. ไม่มีอาการเลยหรือมีอาการไม่มาก แต่จะซีดลงเมื่อมีไข้ ไม่สบาย
  2. อาการรุนแรงปานกลาง – รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะซีด อาจสังเกตหรือตรวจพบตั้งแต่อายุเพียง 2 – 3 เดือนแรก ถ้ารุนแรงมาก จะมีอาการตาเหลือง อ่อนเพลีย เจริญเติบโตไม่สมอายุ ท้องป่อง ม้ามและตับโต ลักษณะกระดูกใบหน้าเปลี่ยนรูป ที่เรียกว่า “หน้าธาลัสซีเมีย” (จมูกแบน โหนกแก้มสูง คางและขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น) ในระยะยาวจะกระดูกเปราะหักง่าย เจ็บป่วยไม่สบายบ่อยๆ

วิธีดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

  1. การดูแลทั่วไป ผู้ป่วยต้องมีสุขอนามัยที่ดี สะอาด รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง วิตามินโฟเลทตามแพทย์สั่ง ฉีดวัคซีนได้ครบถ้วนเหมือนเด็กปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนป้องกันตับอักเสบ หลีกเลี่ยงการกระแทก เพราะกระดูกเปราะอาจหักได้ง่าย
  2. รักษาแบบประคับประคอง
  3. รักษาให้หายขาดโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

เมื่อมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการดูแลลูกให้ดีที่สุด โดยทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของโรค อาการของโรค แนวทางการรักษาโรค ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมในการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มแรกที่แพทย์วินิจฉัย

ทั้งนี้ หากพ่อแม่มีข้อสังเกตหรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะแม้มีหลักการในการปฏิบัติตน และการรักษาในโรคนี้ แต่ในรายละเอียดและการปฏิบัติในแต่ละราย อาจมีข้อปลีกย่อยแตกต่างกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *