“ไข้-ไอ-หายใจหวีด” อาการเด่นของ “หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน”

0

“หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน” แม้ไม่ใช่โรคที่คุ้นหูคุ้นตา แต่สำหรับพ่อแม่มือใหม่ห้ามปล่อยฝ่านเด็ดขาด เพราะโรคนี้พอในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ปี โดยเฉพาะเบบี๋วัย 2-6 เดือน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทารกน้อยต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหอบหืดในอนาคต

 

หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน (acute bronchiolitis) คือ การอักเสบของหลอดลมฝอยในเด็ก มีลักษณะพิเศษคือการหายใจเสียงหวีด/ วีซ (wheeze) เกิดจากการติดเชื้อทำให้มีหลอดลมฝอยอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV (respiratory syncytial virus) ส่วนไวรัสอื่น ๆ ที่พบว่าเป็นสาเหตุ ได้แก่ human metapneumovirus (hMPV), influenza virus, rhinovirus, adenovirus และ parainfluenza virus

 

132

 

หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันนี้ เป็นโรคที่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (ช่วงอายุที่พบบ่อย 2-6 เดือน) สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV มีดังนี้

-ทารกคลอดก่อนกำหนด

-ทารกมีโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

-ทารกมีโรคปอดเรื้อรัง Bronchopulmonary dysplasia (BPD)

-ทารกมีโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น Spinal muscular atrophy (SMA)

-ทารกมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

-ทารกไม่ได้กินนมมารดา

-มารดาสูบบุหรี่

 

สำหรับอาการของเบบี๋ที่ป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน มักเริ่มจากมีน้ำมูกใส ไอนำมาก่อน บางรายมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมาอีก 1 – 2 วันมีอาการหายใจเร็ว อกบุ๋ม หายใจมีเสียงหวีด/ วีซ (wheeze) ในรายที่รุนแรงอาจมีการหายใจล้มเหลว ปลายมือปลายเท้าเขียว หรือปากเขียว นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ หอบหืด ภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น หลอดลมฝอยตีบ อุดกั้นเรื้อรัง ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 30 ของทารกที่ป่วยด้วยโรคนี้ มีโอกาสเป็นหอบหืดในอนาคต

 

ในส่วนของการป้องกันการติดเชื้อ RSV นั้น ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ งดสูบบุหรี่ ดูแลให้ทารกได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรก ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อันได้แก่ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หมั่นล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการไอจามรดกัน

 

นอกจากนี้ การไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนของคุณแม่ท้องและเบบี๋ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันให้กับลูกน้อยได้ค่ะ

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *