“มาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์” โรคร้ายอันตรายถึงชีวิต

0

หลายคนเข้าใจว่า “มาลาเรีย” เป็นอะไรที่ไกลตัวมากๆ แต่ความเป็นจริงคือ โรคนี้ไม่ได้หายไปหรือไม่มีคนเป็นแล้ว ซึ่งจากสถิติของข้อมูลองค์การอนามัยโลก ยังพบว่ามีการระบาดของโรคนี้อยู่และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโรค และยังพบการเป็น “โรคมาลาเรียระหว่างตั้งครรภ์” อีกด้วย

malaria_during_pregnancy-1

ข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียถึง 10,919 คน ซึ่งในไทย พบเชื้อมาลาเรียได้ในเขตที่เป็นป่าเขา โดยเฉพาะแนวเขตชายแดนไทย-พม่า ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียมาก ได้แก่ ยะลา ตาก กาญจนบุรี ตราด ราชบุรี ระนอง ชุมพร แม่ฮ่องสอน

“โรคมาลาเรีย” เป็นโรคร้ายอันตรายถึงชีวิต!

เกิดจากเชื้อมาลาเรีย โดยมียุงก้นปล่องตัวเมียนำโรคมาสู่คน ชอบกัดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะตอนหัวค่ำและหัวรุ่ง มีอาการที่สำคัญ คือ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว ปวดหัว มีไข้ หนาวสั่น ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสไปพักค้างคืนในป่า หรือถิ่นที่มีมาลาเรีย ให้รีบไปเจาะเลือด หาเชื้อมาลาเรีย

หากตรวจพบเชื้อมาลาเรีย ให้กินยาให้ครบตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จากนั้นมาตรวจเลือดซ้ำตามที่เจ้าหน้าที่นัด และหากมีอาการแพ้ยาหรือผิดปกติ ให้รีบมาพบเจ้าหน้าที่ทันที รวมถึงดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ ถ้าไม่รีบไปตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย อาจทำให้เกิดอาการอันได้แก่ จะมาลาเรียขึ้นสมอง, ไตวาย, เลือดจาง, ตับโต ม้ามโต, หญิงมีครรภ์อาจแท้งได้ หรือถึงขั้นเสียชีวิต

malaria_during_pregnancy-2

ในส่วนของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ปัจจุบันพบว่า ในเขตที่มีการระบาดของโรค แม่ท้องแรกจะมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และง่ายกว่าคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว อาจเป็นเพราะว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน และการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้สูญเสียภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโรคมาลาเรีย จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่า

สำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อชนิด Plasmodium falciparum จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าด้วย ได้แก่ มีภาวะซีด, ภาวะปอดบวมน้ำ, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ภาวะไตวายเฉียบพลัน, ติดเชื้อหลังคลอด นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบถึงลูกในครรภ์ กล่าวคือ มีโอกาสแท้งในไตรมาสแรก, ทารกมีการเจริญเติบโตช้า, เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด รวมถึงทารกมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียได้

อันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่และเบบี๋ขนาดนี้ ดังนั้น คุณแม่ท้องควรป้องกันตัวเองโดยไม่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง  ระวังไม่ให้ยุงกัด และถ้ามีอาการน่าสงสัยอย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนเลยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *