5 วิธีป้องกันลูกอิจฉาน้อง

0

หลายๆ บ้านประสบปัญหาเมื่อคุณแม่มีน้องน้อยเป็นสมาชิกใหม่  พี่คนโตที่อยู่ในช่วงวัยซน  โดยเฉพาะวัยอนุบาลอาจจะยังแยกแยะไม่ออก  จึงเกิดอาการ ‘อิจฉา’ น้อง  กลัวน้องจะมาแย่งความรัก  ลูกช่วงวัยนี้จึงเกิดอาการแปลกๆ    ดื้อผิดปกติ  เรียกร้องความสนใจเกินกว่าเหตุ  หนักไปกว่านั้นถึงขั้นทุบท้องคุณแม่  หรือเกลียดน้อง  รังแกน้อง

Children's jealousy

ปัญหาเหล่านี้จะไม่บานปลายลุกลาม  หากคุณแม่รู้จักวางแผนพูดคุย ทำความเข้าใจ ปรับความรู้สึก  ปลูกฝังความคิดเชิงบวกให้กับเขาตั้งแต่ต้น

มาเริ่มกันเลยไหมคะ

  1. เกริ่นเรื่องน้องให้ฟังบ่อยๆ เมื่อวางแผนจะมีน้อง

ในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่มีการวางแผนดี  ก่อนตัดสินใจมีลูกคนที่สองซักพักควรเริ่มต้นพูดคุยกับลูกคนโตให้เขาเริ่มรับรู้ข้อมูลก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน    เช่น  ดูน้องเบบี๋คนนั้นสิจ๊ะน่ารักจังเลย  ลูกอยากมีน้องผู้หญิงหรือผู้ชายดีจ้ะ (ข้ามคำถามชี้ชะตาแบบ ลูกอยากมีน้องไหมจ๊ะไปเลยเนียนๆ 55)  ถ้ามีน้องแล้วหนูจะได้มีเพื่อนเล่นต้องสนุกแน่ๆ เลย  เป็นต้น

  1. ปลูกฝังความรู้สึกเป็นเจ้าของ

คุณพ่อคุณแม่ต้องมีจิตวิทยาพูดคุยในแบบที่ทำให้เขารู้สึกว่า  เขาเป็นเจ้าของ  เป็นผู้ดูแลคุ้มครองน้อง  เช่น  ถ้าจะมีคนขอหอมแก้มน้องต้องขออนุญาตพี่…. ก่อนน้า  ลูกจะได้มีความรู้หวงแหน  มองว่าน้องเป็นสมบัติล้ำค่าของตัวเอง  ไม่ใช่คนที่จะมาแย่งความรัก

  1. เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมทุกเรื่อง

คุณควรให้เขามีส่วนร่วมกับทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับน้อง  เช่น  ช่วยเลือกเสื้อผ้าอุปกรณ์สำหรับน้อง  ช่วยหยิบของใช้ต่างๆ ให้คุณแม่ตอนเลี้ยงน้อง  หรือจัดหน้าที่ประจำให้ดูแลน้อง  ให้เขาภูมิใจว่าได้รับผิดชอบหน้าที่ยิ่งใหญ่  ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้องต้องเขาเท่านั้น!!

5  วิธีป้องกันลูกอิจฉาน้อง (2)

  1. ชื่นชมและให้ความสำคัญ

คุณควรหมั่นชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อลูกช่วยเหลือและทำความดี  เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นที่น่าชื่นชม  นอกจากนี้คุณยังควรพูดชมลูกต่อหน้าเขาให้คนอื่นฟัง  เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูก  เช่น  นี่ถ้าไม่มีพี่…. นะ  คุณแม่เหนื่อยแย่เลย     พี่…. ช่วยดูแลน้องได้เยอะเลยนะ เก่งมากๆ     หรือถ้าน้องไม่ได้คุยกับพี่…. ก่อนนอนนะไม่ยอมเลย     พอพี่… คุยด้วยก็เงียบไม่งอแงเลย  เป็นต้น  คราวนี้คุณพี่จะดูแลน้องสุดพลังแน่ๆ ค่ะ

  1. รักและให้ความอบอุ่นกับลูกเหมือนเดิม

เหนือสิ่งอื่นใดแม้ว่าคุณแม่จะเหนื่อยจะเครียดแค่ไหน  ต้องมีเวลาพูดคุย  ดูแลพี่คนโตให้เหมือนเดิม  ให้ลูกรู้สึกว่าเขายังได้รับความรักเหมือนเดิม  สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างมากคือการระบายอารมณ์โกรธและหงุดหงิดใส่ลูกเกินจำเป็น  ลูกอาจจะไม่โกรธคุณแต่จะหาเหตุอื่นมาอธิบายปฏิกิริยาของแม่ที่เปลี่ยนไป  ซึ่งก็จะมองว่าเพราะมีน้องแม่จึงเหนื่อยและหงุดหงิดใส่     หากลูกเกเรงอแงเรียกร้องความสนใจจากคุณบ้างในช่วงนี้ก็ขอให้พยายามทำความเข้าใจ  พูดคุยกับเขาดีๆ  ไม่ลงโทษเกินกว่าเหตุหรือตามใจจนเกินพอดีนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *