เมื่อลูกน้อยกระดูกหัก ไม่อยากพลาด ต้องทำยังไง

0

ขึ้นชื่อว่าวัยซน เมินซะเถอะว่าจะอยู่นิ่งๆ เรียกว่าคุณแม่อย่างเราๆ ต้องดูแลเจ้าตัวเล็กชนิดที่ว่า แทบจะตามติดแบบก้าวต่อก้าวทีเดียว เพราะความซนน้องๆ ลูกลิงของเด็กวัยนี้ “โรคกระดูกหักในเด็ก” จึงนับเป็นภาวะที่พบได้บ่อย

แล้วอย่างนี้คุณหม่ามี้จะดูแลลูกน้อยยังไงดีล่ะคะ??

คุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เด็กกระดูกยังอ่อน” คำกล่าวนี้นับว่าสื่อความหมายได้ตรงกับความเป็นจริง เพราะกระดูกเด็กหักค่อนข้างง่าย มีลักษณะการหักบางอย่างที่ไม่พบในผู้ใหญ่ เช่น การบิดงอผิดรูปของกระดูก, การย่นของกระดูก หรือมีการหักที่ด้านหนึ่งและอีกด้านที่งอผิดรูปแต่ไม่แตกออก

Accident

การที่กระดูกเด็กยังคงมีการเจริญเติบโตได้ เป็นเพราะศูนย์การเจริญเติบโตของกระดูกยังไม่ปิด คือมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนที่จะให้การเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มความยาวของกระดูกตามร่างกายที่เติบโตขึ้น ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีการสะสมของแคลเซียม จึงอ่อนและง่ายต่อการบาดเจ็บ แต่กลับไม่สามารถมองเห็นได้จากการ X-Ray ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก จึงต้องระมัดระวังในการรักษา เพราะถ้าพลาดอาจทำให้เกิดผลร้ายแรง เช่น กระดูกผิดรูปบิดเบี้ยว แขนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

โดยทั่วไปแล้วในเด็กเมื่อมีกระดูกหัก จะมีการฟื้นตัวและกระดูกที่หักติดเร็วกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงเมื่อกระดูกติดแล้ว แต่ไม่ตรง หรือมีความผิดรูปของกระดูกหลงเหลืออยู่ เมื่อกระดูกเติบโตขึ้น ก็สามารถกลับมาตรงได้เอง ด้วยคุณลักษณะนี้ การรักษากระดูกหักในเด็ก จึงเหมาะกับการใส่เฝือกมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะกระดูกติดเร็ว

เมื่อเด็กได้รับบาดเจ็บแล้วสงสัยว่ามีกระดูกหัก เช่น มีอาการบวมมาก ไม่ยอมขยับส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการผิดรูปโก่งงอของอวัยวะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรทำคือ…

  1. ใช้วัสดุแข็ง เช่น แผ่นไม้ หรือกระดาษแข็งๆ ดามอวัยวะส่วนนั้นไว้ โดยอาจใช้ผ้าหรือผ้ายืดพันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม
  2. ใช้ความเย็นประคบเพื่อลดการบวม ห้ามใช้ยาใดๆ ถูนวดบริเวณที่บาดเจ็บ
  3. อย่าพยายามดัดหรือดึงกระดูกที่ผิดรูปด้วยตัวเอง
  4. ให้งดน้ำและอาหารไว้ก่อน เพราะอาจมีความจำเป็นที่ต้องดมยาสลบ (การดมยาสลบในขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะอาจทำให้สำลักและเป็นอันตรายได้)
  5. เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

แม่นุ่มต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวนะคะ ควรต้องรู้ไว้ค่ะ!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *