พ่อแม่ต้องระวัง… ใช้สื่อไอทีเลี้ยงลูกสูง ทำไอคิวต่ำ

0

ยุคนี้เป็นยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นคนนั่งก้มหน้าใช้มือถือหรือแท็บเล็ตกันทั้งนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่เฉพาะแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น พ่อแม่มือใหม่หลายบ้านยังใช้มือถือหรือแท็บเล็ตกับเจ้าตัวเล็ก เสมือนเป็นของเล่นดึงความสนใจให้เบบี๋อยู่นิ่งไม่งอแง โดยหารู้ไม่ว่าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก!

parents-need-to-be-careful-use-high-tech-it-to-do-low-iq

ข้อมูลจาก นพ.พนิต โล่เสถียรกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี กรมอนามัย ในฐานะผู้วิจัยสถานการณ์พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย พ.ศ. 2557 อนาคตที่น่าห่วง ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม ระบุว่า การสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย อายุ 0 – 5 ปี กรมอนามัยจะดำเนินการทุก 3 – 5 ปี โดยจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งเก็บข้อมูลจากเด็กปฐมวัยทุกเขตสุขภาพรวมมากกว่า 10,000 คน พบว่า…

ภาพรวมพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทยอยู่ที่ 70% แต่เมื่อแยกเป็นรายเขตสุขภาพจะพบว่า พัฒนาการสมวัยนั้นมีความแตกต่างกัน โดยพื้นที่ภาคเหนือมีพัฒนาการสมวัยสูงสุดประมาณ 85% ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้พัฒนาการสมวัยอยู่ที่ประมาณ 50 – 60% เท่านั้น

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กนั้น หากไม่นับเรื่องของพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยหลักๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน

  1. ตัวเด็กเอง เช่น การคลอดก่อนกำหนด การขาดออกซิเจน เป็นต้น
  2. สิ่งแวดล้อม เช่น ฐานะของครอบครัว โดยพบว่า หากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าหมื่นบาทอย่างชัดเจน เพราะครอบครัวที่มีรายได้ดีกว่าก็จะมีเวลาในการเลี้ยงลูก เล่นกับลูก อ่านนิทานให้ลูกฟังมากกว่าครอบครัวที่รายได้น้อยที่อาจให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า หรือเรื่องของการศึกษาของพ่อแม่ โดยพบว่าพ่อแม่ที่มีวุฒิการศึกษาสูงจะเลี้ยงลูกได้มีคุณภาพกว่า เป็นต้น
  3. เรื่องการเลี้ยงดู ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแม้เด็กปกติที่มีพัฒนาการดี แต่หากมีการเลี้ยงดูที่ไม่ดีก็ทำให้พัฒนาการเด็กต่ำลงได้ หรือแม้พัฒนาการเด็กจะไม่ดีตั้งแต่เกิด แต่หากมีการเลี้ยงลูกที่ดีก็ช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการให้เด็กดูสื่อไอทีตั้งแต่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ซึ่งพบมากถึง 80% ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านภาษา ขณะที่พ่อแม่ที่เล่นกับเด็กอย่างมีคุณภาพ คือ เล่นกับลูก 5 วันต่อสัปดาห์ นานวันละ 30 นาที มีเพียง 50% และพ่อแม่ที่เล่านิทานให้เด็กฟังอย่างมีคุณภาพมีเพียง 20% เท่านั้น ทั้งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

รู้อย่างนี้แล้ว เปลี่ยนจากการใช้มือถือหรือแท็บเล็ตกับเจ้าตัวเล็ก มาเป็นการเล่นกับลูกด้วยตัวเอง เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก รวมถึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *