เจาะลึก “บอแรกซ์” พบได้ที่ไหน? อันตรายยังไง?

0

เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ทำเอาคนรักสุขภาพหวาดผวากับข่าวการตรวจจับผู้ค้าเนื้อหมูในตลาดสี่มุมเมือง ย่านรังสิตลักลอบผสมสารบอแรกซ์ในเนื้อหมู แม้ว่าหลายคนอาจยังไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่แน่ชัดจาก “สารบอแรกซ์” แต่ก็คงจะพอทราบว่าสารเคมีชนิดนี้ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน เพื่อความกระจ่างเรามาทำความรู้จักสารบอแรกซ์กันเถอะ

“สารบอแรกซ์” (Borax)

มีลักษณะเป็นผงสีขาวมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ ผงเนื้อนิ่มสารบอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่นทำแก้ว เพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง เป็นสารหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น

แต่เพราะความมักง่ายของผู้ค้าทำให้ถูกนำมาใช้ผสมในอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย สำหรับอาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น

Thai street food

พิษของสารบอแรกซ์เกิดได้สองกรณี คือ…

  1. แบบเฉียบพลัน จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง
  2. แบบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าตาบวม เยื่อตาอักเสบ เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ จะเข้าไปสะสมในกรวยไต ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อไตอักเสบ หากสะสมไปนานๆ จะทำให้ไตพิการหรือไตวายได้ และสะสมในสมอง ทำให้สมองอักเสบ ทำงานไม่ปกติ

เพื่อหลีกเลี่ยงสารบอแรกซ์ผู้บริโภคจึงไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติจากธรรมชาติไม่ซื้อหมูบดสำเร็จรูป ควรซื้อเป็นชิ้นแล้วนำมาบดหรือสับเองไม่กินอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้ง หรืออยู่ได้นานผิดปกติทั้งนี้เนื่องจากสารบอแรกซ์ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นจึงตรวจสอบได้ยาก

แต่ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยการนำเนื้อหมูไปล้างในน้ำ แล้วใช้กระดาษกรองหรือกระดาษชำระหนา ๆ ชุบขมิ้นจุ่มในน้ำล้างเนื้อหมูดังกล่าว หากกระดาษเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีม่วงๆ แดง ๆ แสดงว่ามีสารบอแรกซ์ปนอยู่ และยิ่งหากสีเข้มก็ยิ่งปนมาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *