“ประเภทอาหารทางการแพทย์” เรื่องน่ารู้เพื่อการดูแลสุขภาพ

0

หลายครั้งที่เราเจ็บป่วย แพทย์มักแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการรับประทานอาหารโดยมีศัพท์เฉพาะเป็นประเภทอาหารต่างๆ เช่น อาหารอ่อน อาหารย่อยง่าย อาหารรสจืด เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายที่เจ็บป่วยการรู้จัก “ประเภทอาหารทางการแพทย์” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทราบ เพราะหากรับประทานอาหารผิดประเภท อาจทำให้อาการเจ็บป่วยทรุดหนักลงได้!!

อาหารทางการแพทย์

“อาหารปกติ”

ได้แก่ อาหารที่กินเป็นประจำทุกวันและควรเป็นอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่

“อาหารอ่อน”

ได้แก่ อาหารที่ย่อยง่าย อ่อนนุ่ม มีน้ำมากกว่าปกติ และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มหมูสับรสจืด ข้าวสวยหุงเปียก แกงจืดหมูสับเต้าหู้ ไข่ตุ๋น ปลา เนื้อสัตว์หรือผักต้องต้มเปื่อย และเป็นชนิดใยอาหารต่ำ เช่น ผักกาดขาวต้ม แกงจืดผักกาดขาว ผลไม้ต้องสุกงอม ขนมต้องย่อยง่าย เช่น ข้าวเหนียวเปียก ขนมเปียกปูน และเป็นอาหารมีประโยชน์ครบห้าหมู่โดยอาหารประเภทนี้ถือเป็นอาหารป้องกันหรือลดอาการท้องเสีย

“อาหารเหลว/อาหารน้ำ”

เป็นอาหารที่มีลักษณะเหลวเป็นน้ำ รสจืด มีคุณค่าอาหารน้อยกว่า 2 ชนิดแรกมาก มักเป็นอาหารที่แพทย์แนะนำหลังเพิ่งหยุดท้องเสีย หรือ 1-2 วันหลังผ่าตัดลำไส้ หรือในช่วงฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะลำคอและเจ็บปากเจ็บคอมาก หรือช่วงได้ยาเคมีบำบัดแล้วมีอาเจียนมาก เช่น น้ำซุปต่างๆ น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าวโดยอาหารประเภทนี้ถือเป็นอาหารป้องกันหรือลดอาการท้องเสีย

“อาหารเสาะท้อง”

ได้แก่ อาหารที่กินแล้วท้องเสียได้ง่าย เช่น รสจัด เปรี้ยว กากใยสูง เช่น ส้ม ส้มตำ นม เป็นต้น

“อาหารช่วยลดอาการท้องผูก”

ได้แก่ อาหารกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ ทั้งชนิดดิบและชนิดสุก

“อาหารย่อยง่าย”

ได้แก่ อาหารอ่อน ซึ่งรวมทั้งไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ยกเว้นไข่ดาว

“อาหารย่อยยาก”

ได้แก่ อาหารกากใยอาหารสูง คือ ผักผลไม้ดิบ เนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารทะเลยกเว้นปลา

“อาหารกากใยอาหารสูง”

ได้แก่ อาหารกลุ่มเดียวกับอาหารย่อยยาก

“อาหารโปรตีนสูง-อาหารโปรตีนต่ำ”

อาหารโปรตีนสูงคือ เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้ง ปลา อาหารทะเล ไข่ และตับ ส่วนอาหารโปรตีนต่ำคือ จำกัดอาหารที่มีโปรตีนสูง กินโปรตีนจากพืชแทนเป็นส่วนใหญ่

“อาหารคาร์โบไฮเดรตสูง-อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ”

อาหารคาร์โบไฮเดรตสูงคือ อาหารแป้งสูง หรืออาหารหวาน ตรงข้ามกับอาหารแป้งต่ำคือ กินแป้ง หรือหวานให้น้อยลง หรือ จำกัดการกินแป้งรวมทั้งกินของหวาน กินข้าวเพียงมื้อละ 2 – 3 ช้อน

“อาหารไขมันสูง-อาหารไขมันต่ำ”

อาหารไขมันสูงคือ มีไขมันสัตว์มาก หรือปรุงด้วยการทอด หรือผัดน้ำมัน ส่วนอาหารไขมันต่ำคือ อาหารต้ม ปิ้ง ย่าง หลีกเลี่ยงการกินไขมัน เขี่ยไขมันทิ้ง หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารผัดน้ำมัน และหลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ แต่เมื่อจำเป็นควรใช้ไขมันพืชแทน

ก็เหมือนที่หลายคนรู้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” เรื่องของอาหารการกินก็เช่นเดียวกัน รู้ไว้ไม่เสียหายแถมยังได้เรื่องสุขภาพด้วยนะคะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *