ไม่ตลก! เล่นพิเรนทร์ “ฝันหวานกดหลับ” อันตรายถึงตาย

0

เมื่อกล่าวถึงการเล่นที่เรียกว่า “ฝันหวานกดหลับ” หลายคนอาจเคยได้ยินได้เห็นผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เพราะเป็นการเล่นที่เคยระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง ล่าสุดการเล่นพิเรนทร์นี้กลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากคลิปที่มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดีย งานนี้ดูได้แต่อย่าริรองเพราะอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ทีเดียว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

การเล่นที่เรียกว่าฝันหวานกดหลับ และมีอีกหลายชื่อ เช่น choking game, pass-out challenge, fainting game, space cowboy เป็นต้น เป็นการเล่นของวัยรุ่นที่ระบาดไปทั่วโลกซึ่งเป็นการเล่นที่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้

%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a

สำหรับวิธีการเล่นฝันหวานกดหลับ คือ ให้เพื่อนหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ และยืนเบ่งท้อง แล้วให้เพื่อนอีกคนไปกดหน้าอก การกระทำเช่นนี้จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนเข้าหัวใจได้และทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงจนเกิดอาการหมดสติ

สาเหตุที่ทำให้หมดสติเกิดจาก 2 กลไกหลัก

  1. การหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำลง ส่งผลให้มีอาการชาตามตัว หน้ามืดวิงเวียน และทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ซึ่งจะทำให้ความดันต่ำลงได้ง่าย
  2. การกลั้นหายใจและเบ่ง และการกดหน้าอกหรือท้อง ทำให้เลือดเข้าหัวใจได้ลดลง จึงไปเลี้ยงสมองลดลงเช่นกัน จนนำไปสู่การหมดสติ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ด้าน พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า

สาเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เกิดจากอาจล้มศีรษะกระแทกพื้น เกิดบาดแผลรุนแรงหรือเลือดออกในสมอง หากสมองขาดออกซิเจนนานอาจส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ การกดหน้าอกรุนแรงที่ผิดวิธีอาจทำให้กระดูกซี่โครงหักรุนแรงและเป็นอันตรายต่อปอดและหัวใจ และที่สำคัญอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

หากพบเหตุการณ์ที่มีคนเล่นเช่นนี้แล้วเกิดอาการหมดสติ วิธีการช่วยเหลือ คือ ต้องจับนอนราบกับพื้นโดยเร็วเพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปสู่สมองได้ดีขึ้นซึ่งจะทำให้กลับมาคืนฟื้นสติโดยเร็ว แต่หากไม่ฟื้นไม่หายใจและคลำชีพจรไม่ได้ ให้เริ่มการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ทันที

ทั้งนี้ การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องหมั่นคอยดูแลไม่ให้ลูกหลานเล่นอะไรที่อันตรายเช่นนี้ รวมถึงคัดกรองการท่องโลกโซเชียลของลูก เพื่อป้องกันการเสพสื่อที่มีเนื้อหาอันตรายค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *