ชัวร์หรือมั่ว… ผ่าฟันคุดทำให้เป็นอัมพาตได้จริงหรือ?

0

สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้มีอาการเจ็บป่วยในช่องปากได้ไม่น้อย กับกรณีที่คนไข้รายหนึ่งได้ร้องทุกข์ผ่านรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า หลังจากเข้ารับการผ่าฟันคุดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วเป็นอัมพาต มีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทำเอาคนที่มีอาการฟันคุดตื่นตระหนกกันถ้วนหน้า

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ยืนยันว่าในทางการแพทย์ไม่เคยเกิดกรณีคนไข้ผ่าฟันคุดแล้วเป็นอัมพาต ข้อเท็จจริงคือ… คนไข้มารับบริการครั้งแรกโดยมีอาการติดเชื้อจากฟันกรามคุด ปวดและบวมที่ขากรรไกร รวมทั้งบวมและเจ็บที่แขนด้วย ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งก็ได้ทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะและผ่าเอาฟันคุดที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อออก

โดยแพทย์ได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างจนอาการติดเชื้อหายไป ในระหว่างที่นอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น คนไข้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและฝังใจว่าเกิดจากการผ่าฟันคุด อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ อาการที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับการผ่าฟันคุดเพราะระบบเส้นประสาท เส้นเลือดต่างๆ เป็นคนละระบบกัน ซึ่งหลังจากมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้น แพทย์ได้รักษาตามอาการจนกระทั่งดีขึ้นและให้กลับบ้านได้

%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%9f%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%94-%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b2%e0%b8%95

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ทพ.นิวัฒน์ พันธุ์ไพศาล งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่

  1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลาม เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
  2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่ฟันคุดสองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
  4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้น จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น
  5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อถูกกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

การผ่าตัดฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การปล่อยให้ฟันคุดมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเสี่ยงต่อการลุกลามและนำไปสู่การแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *