“โรคบิด” อีกหนึ่งโรคยอดฮิตในช่วงหน้าฝน

0

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน เชื่อว่าหนึ่งในโรคยอดนิยมนั้นคงหนีไม่พ้น “โรคบิด” และเพื่อเป็นการป้องกันตัวจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว เราไปทำความรู้จัก “โรคบิด” กันให้มากขึ้นดีกว่า

โรคบิด (Dysentery)

Dysentery (1)

หมายถึง อาการท้องเสียโดยอุจจาระแต่ละครั้งจะออกไม่มาก ร่วมกับมีมูกเลือดปนมาในอุจจาระ และมักร่วมกับอาการปวดบิด เบ่ง เมื่อถ่ายอุจจาระ แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีความร้ายแรงมากนัก แต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานได้เช่นกัน เพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนักคล้ายกับอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด รวมถึงการถ่ายออกมาเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ปวดท้องแบบเบ่งร่วมด้วย  บางรายมีอาการไข้   คลื่นไส้  และอาเจียนร่วมด้วย

โรคบิดเกิดจากสาเหตุใหญ่ ๆ ได้ 2 ประการคือ

  1. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อชิเกลลา (Shigella Dysenteriae) ซึ่งทำให้เกิดโรคบิดไม่มีตัว มักมีอาการเป็นไข้และถ่ายเป็นน้ำคล้ายอาหารเป็นพิษ นำมาก่อน และอาจทำให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรงได้
  2. เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ได้แก่ เชื้ออมีบา (Entamoeba Histolytica) ซึ่งทำให้เกิดโรคบิดมีตัว มักจะไม่มีไข้ และจะถ่ายกะปริดกะปรอยทีละน้อย ๆ ไม่มีภาวะขาดน้ำ และไม่อ่อนเพลีย แต่ถ้ารักษาไม่ดี อาจกลายเป็นบิดเรื้อรัง หรือเกิดฝีในตับแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้

โรคบิดสามารถติดต่อได้โดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อบิด เมื่อเชื้อบิดเข้าสู่ร่างกายแล้วหากเป็นโรคบิดไม่มีตัวจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน ส่วนโรคบิดมีตัวจะมีระยะฟักตัวนานกว่าประมาณ 2-4 สัปดาห์ เชื้อบิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วที่ลำไส้ใหญ่  แทรกตัวทำลายเนื้อเยื่อและผนังลำไส้ใหญ่แล้วแพร่กระจายเชื้อออกมากับอุจจาระ

Dysentery (2)

 

ฉะนั้นการป้องกันตัวให้ห่างไกลจากโรคบิดทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ บริโภคน้ำดื่ม เครื่องดื่ม และน้ำแข็ง ที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (อย.) ผักและ ผลไม้ล้างให้สะอาด ก่อนนำมารับประทาน รวมถึงรักษาสุขอนามัยให้ดี ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *